วันอังคารที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

มงคลเสริมบารมี รับเทศกาลตรุษจีน

มงคลเสริมบารมี


มงคลเสริมบารมี รับเทศกาลตรุษจีน  (ไทยโพสต์)

          ช่วงเทศกาลตรุษจีนทุกปี ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของลูกหลานเชื้อสายจีนที่จะเตรียมตัวพร้อมดำเนินชีวิตให้ดีเพื่อเข้าสู่ปีใหม่ คำอวยพร
"ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้"          

         
จึงเป็นคำอวยพรให้เงินทองเพิ่มพูน สุขภาพแข็งแรง เสริมสิริมงคลให้ชีวิตเฮงกันแบบยกครัวตลอดปี การก้าวย่างสู่ปีใหม่ ทุกบ้านจึงต้องเตรียมปัดกวาดเช็ดถูทุกห้องหับให้สะอาดหมดจด เพื่อขับไล่สิ่งอัปมงคล พร้อมเตรียมของไหว้เทพเจ้าและบรรพบุรุษเพื่อวอนขอโชควาสนา เพื่อเข้าสู่เทศกาลตรุษจีน โดยนับถอยหลังจากวันจ่ายที่เป็นวันจับจ่ายของไหว้ และเครื่องใช้ต่าง ๆ เพื่อใช้ในวันไหว้


         
เริ่มด้วยการไหว้เจ้าที่ (เช้า) บรรพบุรุษ (สาย) สัมภเวสี (บ่าย) และเทพเจ้าแห่งโชคลาภหรือ "ไฉสิงเอี๊ย" (กลางคืน) เพื่อเข้าสู่วันถือ หรือวันปีใหม่ (วันชิวอิค) ที่ทุกคนต้องคิดดี  ทำดี ยิ้มแย้มแจ่มใส พูดแต่สิ่งดีๆ รวมทั้งติดอักษรมงคลสีสดที่ประตูบ้านด้วย เพื่อกวักมือเรียกความเฮงเข้าบ้าน

         
อาจารย์วิศิษฐ์ เตชะเกษม ผู้เชี่ยวชาญศาสตร์จีน กล่าวว่า การไหว้ในทุกช่วงเวลาต่างสำคัญทั้งนั้น แถมต้องอาศัยความตั้งใจและจิตใจที่ผ่องแผ้ว โดยเฉพาะการไหว้ไฉสิงเอี๊ย ที่นิยมไหว้เทพแห่งโชคลาภในคืนวันสุดท้ายคาบเกี่ยวกับช่วงเวลาแรกสุดของวันใหม่ปีใหม่ ถือเป็นประเพณีสำคัญขาดมิได้

         
ประเพณีการไหว้นั้น ชาวจีนแทบทุกบ้านจะขะมักเขม้นเตรียมจัดของ อาหารชั้นเลิศ ผลไม้ชื่อมงคล กระดาษเงินกระดาษทอง พร้อมจัดข้าวของบนโต๊ะอย่างเป็นระเบียบ เรียงตามลำดับความสำคัญตามชนิดของอาหาร ซึ่งอาหารแต่ละชนิดจะมีเสียงเรียกพ้องกับเสียงของคำมงคลทั้งสิ้น

         
การไหว้ "ไฉสิงเอี๊ย" ไม่ควรขาดผลไม้มงคล 5 ชนิด ได้แก่ องุ่น ลูกพลับ ส้ม ทับทิม และกล้วยหอม  อาหารเจ  ได้แก่  วุ้นเส้น ดอกไม้จีน เห็ดหูหนู สาหร่าย เห็ดหอม และของหวานได้แก่ บัวลอย ขนมแห้งข้าวเหนียว และขนมจันอับ ที่สำคัญ กระดาษเงินกระดาษทองเพื่อบูชาขอความรุ่งเรืองจากเทพเจ้าแห่งโชคลาภ

         
การเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนตามธรรมเนียมจะจัดให้อยู่ในระยะ 15 วัน โดยมีอีกวันที่มีเกร็ดน่าสนใจ คือหลังจากวันขึ้นปีใหม่ 7 วัน หรือปีนี้ตรงกับวันที่ 13 กุมภาพันธ์ จะถือเป็นวัน "ชิก เอี่ย ฉ่าย" หรือวันผักเจ็ดชนิด ซึ่งชาวจีนจะนิยมบริโภคผัก 7 ชนิดเพื่อเสริมสิริมงคลให้ชีวิตรุ่งเรือง เสริมบารมี

         
ผักที่ว่าทั้ง 7 ชนิดเป็นผักที่หาได้ง่าย เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ได้แก่ ผักกวางตุ้ง แสดงถึงความรุ่งเรืองเฟื่องฟู ผักชุมฉ่าย ผักแห่งการเก็บออม กะหล่ำปลี แสดงถึงความมั่นคงเป็นปึกแผ่น ขึ้นช่าย ผักในความเชื่อแห่งความเหลือเฟือในทรัพย์ ต้นกระเทียม เพื่อมีเงินทองให้นับตลอด ไชเท้า ผักที่นำมาซึ่งโชคลาภ และผักกาดขาว แสดงถึงความบริสุทธิ์

          นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่ต้องการความสบายใจตลอดปี ก็ควรแก้เคล็ดตามปีเกิดด้วยการไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เสริมสิริมงคล พร้อมบูชาเทพเจ้าประจำนักษัตรของตัวเอง ดังนี้ ...

          ปีชวด บูชาเทพไฉ ซิ้ง-ไท้ซุ้ย ขจัดเคราะห์ภัย

          ปีฉลู   บูชาเทพฮกซิ้ง วาสนาบารมี

          ปีขาล บูชาเจ้าแม่ทับทิม กระตุ้นกิจการงานการค้าให้ก้าวหน้ารุ่งเรือง
           ปีเถาะ บูชาเทพไฉ ซิ้ง ประทานโภคทรัพย์

          ปีมะโรง บูชาพระตรีรัตนโพธิสัตว์ พัฒนากิจการงานการค้าให้ก้าวหน้า

          ปีมะเส็ง บูชาเจ้าพ่อเสือ ช่วยขจัดเหตุวิบัติ บังเกิดทรัพย์สมมุติมงคลสถาน

          ปีมะเมีย บูชาเทพเจ้ากวนอู สยบมาร ช่วยสลายกำลังต่อสู้ปะทะกันของปีเกิดท่านและปีจร

          ปีมะแม บูชาเทพ ฮก ลก ซิ่ว มั่งคั่งทรัพย์อนันต์

          ปีวอก บูชาพระตี่จั่งอ๊วงประทับสิงโต เพิ่มพูนสิ่งอันเป็นสิริมงคล

          ปีระกา บูชาพระโพธิสัตว์กวนอิมทรงมังกร ปัดเป่าความทุกข์ยากเดือดร้อน

          ปีจอ บูชาพระอรหันต์จี้กงคุ้มกันภัย

          ปีกุน บูชาเทพสังกัจจายน์ประทานอำนาจลาภผล

สิ่งที่ไม่ควรทำในวันตรุษจีน

สิ่งที่ไม่ควรทำในวันตรุษจีน
 ห้ามทำความสะอาด เนื่องจากการทำงานบ้าน เช่น การซักล้าง หรือ การกวาดบ้านปัดฝุ่น จะเป็นการขับไล่ความโชคดีออกไป ดังนั้นการทำความสะอาดบ้านจึงควรเริ่มทำตั้งแต่ก่อนที่วันขึ้นปีใหม่จะมาถึง
 ห้ามสระผม ไม่ควรสระผมในวันเริ่มต้นและวันสุดท้ายของวันขึ้นปีใหม่ เนื่องจากการสระผมถือเป็นการชะล้างความโชคดีที่มาถึงในวันขึ้นปีใหม่
 ห้ามใช้ของมีคม ไม่ควรใช้ของมีคมในวันขึ้นปีใหม่ ของมีคมต่างๆ เช่น มีด, กรรไกร, ที่ตัดเล็บ เนื่องจากถือว่าการกระทำของของมีคมนี้ จะเป็นการตัดสิ่งหรืออนาคตที่ดี ที่จะนำมาในวันขึ้นปีใหม่
 ห้ามโต้เถียง ควรระมัดระวังในการใช้คำพูดที่มีความหมายไปในทางลบ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการโต้เถียงกัน คำที่เกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วยหรือความตาย เป็นคำที่เราควรหลีกเลี่ยงในวันขึ้นปีใหม่
 เลี่ยงเรื่องเกี่ยวกับความตาย หลีกเลี่ยงการเข้าร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวกับงานศพ และการฆ่าสัตว์ปีก
 ห้ามซุ่มซ่าม ควรระมัดระวังในการทำสิ่งใดๆ ไม่ควรที่จะให้เกิดการสะดุด หรือ ทำสิ่งของตกแตก ซึ่งนั่นจะหมายถึงการนำความโชคไม่ดีเข้ามาในอนาคต 

ความเชื่อโชคลางในวันตรุษจีน

ความเชื่อโชคลางในวันตรุษจีน

ทุกคนจะไม่พูดคำหยาบหรือพูดคำที่ไม่เป็นมงคล ความหมายเป็นนัย และคำว่า สี่

        
ซึ่งออกเสียงคล้ายความตายก็จะต้องไม่พูดออกมา ต้องไม่มีการพูดถึงความตายหรือการใกล้ตาย และเรื่องผีสางเป็นเรื่องที่ต้องห้าม เรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นในปีเก่า ๆ ก็จะไม่เอามาพูดถึง ซึ่งการพูดควรมีแต่เรื่องอนาคต และทุกอย่างที่ดีกับปีใหม่และการเริ่มต้นใหม่
 ไม่ร้องไห้

          หากคุณร้องไห้ในวันปีใหม่ คุณจะมีเรื่องเสียใจไปตลอดปี ดังนั้นแม้แต่เด็กดื้อที่ปฎิบัติตัวไม่ดีผู้ใหญ่ก็จะทน และไม่ตีสั่งสอน
 แต่งกายสะอาด แต่ไม่ควรสระผม
          การแต่งกายและความสะอาด ในวันตรุษจีนเราไม่ควรสระผมเพราะนั้นจะหมายถึงเราชะล้างความโชคดีของเราออกไป เสื้อผ้าสีแดงเป็นสีที่นิยมสวมใส่ในช่วงเทศกาลนี้ สีแดงถือเป็นสีสว่าง สีแห่งความสุข ซึ่งจะนำความสว่างและเจิดจ้ามาให้แก่ผู้สวมใส่ เชื่อกันว่าอารมณ์และการปฏิบัติตนในวันปีใหม่ จะส่งให้มีผลดีหรือผลร้ายได้ตลอดทั้งปี เด็ก ๆ และคนโสด เพื่อรวมไปถึงญาติใกล้ชิดจะได้ อังเปา ซึ่งเป็นซองสีแดงใส่ด้วย ธนบัตรใหม่เพื่อโชคดี
 ปรึกษาชินแสเกี่ยวกับการเดินออกจากบ้าน

          ตรุษจีนกับความเชื่ออื่น ๆ สำหรับคนที่เชื่อโชคลางมาก ๆ ก่อนออกจากบ้านเพื่อไปเยี่ยมเยียนเพื่อนหรือญาติ อาจมีการเชิญซินแส เพื่อหาฤกษ์ที่เหมาะสมในการออกจากบ้านและทางที่จะไปเพื่อเป็นความเป็นสิริมงคล
 บุคคลแรกที่พบและคำพูดที่ได้ยินคำแรกของปีมีความหมายสำคัญมาก 

          ถือว่าจะส่งให้มีผลได้ตลอดทั้งปี การได้ยินนกร้องเพลงหรือเห็นนกสีแดงหรือนกนางแอ่น ถือเป็นโชคดี
 ห้ามเข้าไปในห้องนอนคนอื่น

          การเข้าไปหาใครในห้องนอนในวันตรุษถือเป็นโชคร้าย ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นคนป่วยก็ต้องแต่งตัวออกมานั่งในห้องรับแขก
 ไม่ควรใช้มีดหรือกรรไกรในวันตรุษ

          เพราะเชื่อว่าจะเป็นการตัดโชคดี ทุกวันนี้ไม่ใช่ว่าชาวจีนทุกคนจะคงยังเชื่อตามความเชื่อที่มีมาแต่ทุกคนก็ยังคงยึดถือ และปฎิบัติตาม เพราะสิ่งเหล่านี้เปรียบเสมือนธรรมเนียม และวัฒนธรรม โดยที่ชาวจีน ตระหนักดีว่าการปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมมาแต่เก่าก่อนเป็นการแสดงถึงความเป็น ครอบครัวและเอกลักษณ์ของตน

เกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับวันตรุษจีน

เกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับวันตรุษจีน
 สัญลักษณ์อีกอย่างของเทศกาลตรุษจีน คือ อั่งเปา (ซองแดง) คือ ซองแดงใส่เงินที่ผู้ใหญ่แล้วจะมอบให้ผู้น้อย และมีการแลกเปลี่ยนกันเอง หรือจะใช้คำว่า แต๊ะเอีย (ผูกเอว) ที่มา คือ ในสมัยก่อนเหรียญจะมีรูตรงกลาง ผู้ใหญ่จะร้อยด้วยเชือกสีแดงเป็นพวงๆ และนำมามอบให้เด็กๆ เด็กๆ ก็จะนำมาผูกเก็บไว้ที่เอว         ในเทศกาลนี้ ชาวจีนจะกล่าวคำ ห่ออ่วย หรือคำอวยพรภาษาจีนให้กัน หรือมีการติดห่ออ่วยไว้ตามสถานที่ต่างๆ คำที่นิยมใช้กัน ได้แก่

                - แต้จิ๋ว : ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้ จีนกลาง: ซินเจิ้งหรูอี้ ซินเหนียนฟาฉาย แปลว่า ขอให้ประสบโชคดี ขอให้มั่งมีปีใหม่

                - จีนกลาง: กงฉี่ฟาฉาย

       
  เกียฮ่อซินนี้ ซินนี้ตั้วถั่น
แปลว่า สวัสดีปีใหม่ ขอให้ร่ำรวยๆ อีกฝ่ายก็จะกล่าวตอบว่า ตั่งตังยู่อี่ แปลว่า ขอให้สุขสมหวังเช่นกัน

        
อื้ 
คำนี้ แปลว่ากลมๆ ขนมอี๊กลมๆ แป้งนิ่มๆ เคี้ยวง่าย กลืนง่าย ให้ความหมายมงคลอวยพรให้ชีวิตราบรื่นง่ายดายเหมือนขนมอี๊ที่ไหว้และรับประทาน

        
โหงวเส็กที้ง
แปลว่า ขนม 5 สี อันได้แก่ ถั่วตัด งาตัด ข้างพอง ถั่วเคลือบ น้ำตาล และฟักเชื่อม บางทีก็เรียกว่า "ขนมจันอับ"

        
ส้ม
คนจีนเรียกว่า กา แต่ก็มีอีกคำหนึ่งเรียกว่า "ไต้กิก" แปลว่าดี (ส่วนมากนิยมไหว้ 4 ผล เพราะเลขสี่พ้องเสียงคำ "สี่" ที่แปลว่าดี)

        
โชคดี (ส่วนมากนิยมไหว้ 4 ผล เพราะเลขสี่พ้องเสียงคำ "สี่" ที่แปลว่าดี)

อาหารไหว้เจ้าที่และบรรพบุรุษ

อาหารไหว้เจ้าที่และบรรพบุรุษ
อาหารไหว้เจ้าที่และบรรพบุรุษ (คลังปัญญาไทย)

         
ในวันฉลองตรุษจีนอาหารจะถูกรับประทานมากกว่าวันไหนๆในปี อาหารชนิดต่างๆที่ปฏิบัติกันจนเป็นประเพณี จะถูกจัดเตรียมเพื่อญาติพี่น้องและเพื่อนฝูง รวมไปถึงคนรู้จักที่ได้เสียไปแล้ว ในวันตรุษครอบครัวชาวจีนจะทานผักที่เรียกว่า ไช่ ถึงแม้ผักชนิดต่างๆ ที่นำมาปรุง จะเป็นเพียงรากหรือผักที่มีลักษณะเป็นเส้นใยหลายคนก็เชื่อว่าผักต่างๆ มีความหมายที่เป็น มงคลในตัวของมัน 
           เม็ดบัว - มีความหมายถึง การมีลูกหลานที่เป็นชาย

           เกาลัด - มีความหมายถึง เงิน

           สาหร่ายดำ - คำของมันออกเสียงคล้าย ความร่ำรวย

           เต้าหู้หมักที่ทำจากถั่วแห้ง - คำของมันออกเสียงคล้าย เต็มไปด้วยความร่ำรวย และ ความสุข

           หน่อไม้ - คำของมันออกเสียงคล้าย คำอวยพรให้ทุกอย่างเต็มไปด้วยความสุข
 

เต้าหู้ที่ทำจากถั่วสดนั้นจะไม่นำมารวมกับอาหารในวันนี้เนื่องจากสีขาวซึ่งเป็นสีแห่งโชคร้าย สำหรับปีใหม่และหมายถึงการไว้ทุกข์

          อาหารอื่นๆ รวมไปถึงปลาทั้งตัว เพื่อเป็นตัวแทนแห่งการอยู่ร่วมกัน และความอุดมสมบรูณ์ และไก่สำหรับความเจริญก้าวหน้า ซึ่งไก่นั้นจะต้องยังมีหัว หางและเท้าอยู่ เพื่อ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์ เส้นหมี่ก็ไม่ควรตัดเนื่องจากหมายถึงชีวิตที่ยืนยาว 

ทางตอนใต้ของจีนจานที่นิยมที่สุดและทานมากที่สุดได้แก่ ข้าวเหนียวหวานนึ่ง บ๊ะจ่างหวาน ซึ่งถือเป็นอาหารอันโอชะ  
ทางเหนือ หมั่นโถและติ่มซำเป็นอาหารที่นิยม

        
  อาหารจำนวน มากที่ถูกตระเตรียมในเทศกาลนี้มีความหมายถึง ความอุดมสมบูรณ์และความร่ำรวยของบ้าน
ของไหว้เจ้าที่ ประกอบด้วย
           ของคาว หมู เป็ด ไก่ ตับ ปลา แล้วแต่ว่าจะไหว้มากหรือน้อย

                    - ไหว้ 3 อย่าง เรียกว่า ชุดซาแซ ประกอบด้วย หมู เป็ด ไก่

                    - ไหว้ 5 อย่าง เรียกว่า ชุดโหงวแซ ประกอบด้วยหมู เป็ด ไก่ ตับ ปลา

           ข้าว ข้าวสวยใส่ชาม พร้อมตะเกียบ จำนวนชุดตามจำนวนบรรพบุรุษ นิยมนับถึงแค่รุ่นปู่ย่า

           ขนมไหว้ ฮวกก้วยหรือขนมถ้วยฟู คักท้อก้วยหรือขนมกุยช่าย(เป็นไส้ชนิดใดก็ได้)

           ขนมจันอับ ซาลาเปา ขนมไหว้นี้ต้องมีสีชมพู หรือมีแต้มจุดแดง

           ขนมไหว้พิเศษ ขนมเข่ง ขนมเทียน ต้องยืนเป็นหลัก

           ผลไม้ ส้ม กล้วยทั้งหวีเลือกเขียวๆ องุ่น แอปเปิล ชมพู่ ลูกพลับ

           เครื่องดื่ม น้ำชา 5 ที่หากมีไหว้ของคาวจะไหว้เหล้าด้วยก็ได้ก็จัด 5 ที่เช่นกัน

           กระดาษเงิน กระดาษทอง ชุดไหว้เจ้าที่ ธุปไหว้ คนละ 5 ดอก

           ทองแท่งสำเร็จรูป แบงก์กงเต็ก ค้อซี ฯลฯ จะมากหรือน้อยแล้วแต่เรา

           กระถางรูป โดยเอาข้าวสารใส่ในแก้วไว้สำหรับปักรูป หลังจากที่เสร็จพิธีก็นำเข้าไปผสมกับถังข้าวสารในบ้านไว้สำหรับหุงทนเพื่อให้เฮง ๆ

          
จำนวนชนิดของขนมไหว้ นิยมให้สอดคล้องกับของคาว เช่น ไหว้ ของคาว 3 อย่าง ขนม 3 อย่าง ผลไม้ 3 อย่างของไหว้บรรพบุรุษ ประกอบด้วย           หมู มีความหมายถึงความมั่งคั่ง ด้วยความอ้วนของตัวหมู สะท้อนถึงความกินดีอยู่ดี

           ไก่ มีมงคล 2 อย่างคือ

                    - หงอนไก่สื่อถึงหมวกขุนนาง ความหมายมงคลจึงเป็นความก้าวหน้าในงาน

                    - ไก่ขันตรงเวลาทุกเช้า สะท้อนถึงการรู้งาน

           ตับ คำจีนเรียกว่า กัว พ้องเสียงกับคำว่า กัว ที่แปลว่าขุนนาง

           ปลา คนจีนแต้จิ๋วเรียกว่า ฮื้อ โดยมีวลีมงคล อู่-ฮื้อ-อู่-ชื้ง แปลว่า ให้เหลือกินเหลือใช้  ไหว้ปลาเพื่อให้มีเงินเหลือกินเหลือใช้มาก ๆ

           กุ้งมังกร ไหว้ด้วยรูปลักษณ์ของกุ้งที่หัวใหญ่ มีก้ามให้ความรู้สึกถึงอำนาจวาสนา ต่อมากุ้งมังกรหายาก จึงเปลี่ยนเป็นเป็ดสำหรับคนจีนแต้จิ๋ว และเปลี่ยนเป็นปลาหมึกแห้ง  สำหรับคนจีนแคะ)
ชุดกับข้าว ซึ่งทำไหว้ผีบรรพบุรุษและไว้รับประทาน           ลูกชิ้นปลา จีนแต่จิ๋วออกเสียงว่า ฮื้อ-อี๊ แปลว่า ลูกปลากลมๆ
 
                    - ฮื้อ หรือปลา คือให้เหลือกินเหลือใช้

                    - อี๊ แปลว่า กลม ๆ หมายถึงความราบรื่น

           ผัดต้นกระเทียม เพราะคนจีนแต้จิ๋ว เรียกกระเทียมว่า สึ่ง พ้องเสียงกับสึ่งที่แปลว่านับ ไหว้ต้นกระเทียม เพื่อให้มีเงินมีทองให้ได้นับอยู่เสมอ

           ผัดตับกับกุยช่าย ตับคือ การเรียกว่า กัว พ้องเสียงกับกัวที่แปลว่า ขุนนาง  กุยช่ายเป็นการพ้องเสียงของคำว่ากุ่ย แปลว่า แพง รวย

           แกงจืด คนจีนเรียกว่า เช็ง-ทึง เช็ง แปลว่า ใส หวาน ซดคล่องคอ การไหว้น้ำแกงก็เพื่อให้ชีวิตลูกหลานหวานราบรื่น

           เป๊าฮื้อ เป๊า หรือ เปา แปลว่า ห่อ ส่วน ฮื้อ คือเหลือกินเหลือใช้ ไหว้เป๊าฮื้อ  เพื่อห่อความมั่งคั่เหลือกินเหลือใช้มาให้ลูกหลาน

           ผัดถั่วงอก คนจีนแต้จิ๋วเรียกถั่วงอกว่า เต๋าแหง๊ แต่ภาษาวิชาการเรียกว่า เต้าเหมี่ยว เหมี่ยว แปลว่า งอกงาม ไหว้ถั่วงอกเพื่อให้งอกงามรุ่งเรือง

           เต้าหู้ เป็นคำเรียกแบบชาวบ้านที่อาจเรียกเป็นเต้าฮกก็ได้ ฮก คำนี้เป็นสำเนียงแต้จิ๋ว จีนกลางออกเสียงเต้าหู้ว่า โตฟู ฟู แปลว่า บุญ ความสุข

           สาหร่ายทะเล เรียกว่า ฮวกฉ่าย ถ้าออกเสียงเป็นฮวดไช้ ก็แปลว่า โชคดี ร่ำรวย
ชุดของหวาน           ซาลาเปา เล่นเฉพาะคำว่า เปา แปลว่า ห่อ ไหว้ซาลาเปาเพื่อให้เปาไช้ แปลว่า  ห่อโชค  ห่อเงินห่อทองมาให้ลูกหลาน

           ขนมถ้วยฟู คือไหว้เพื่อให้เฟื่องฟู คนจีนแต้จิ๋วเรียกขนมถ้วยฟูว่า ฮวกก้วย ก้วย  แปลว่า ขนม ฮวก แปลว่างอกงาม

           ขนมคัดท้อก้วย คือขนมไส้ต่าง ๆ เช่น ไส้ผักกะหล่ำ มันแกว ไส้กุยช่าย ทำเป็นรูปลูกท้อสีชมพู ลูกท้อ เป็นผลไม้มงคลมีนัยอวยพรให้อายุยืนยาว
 
           ขนมไข่ คนจีนเรียกว่า หนึงก้วย ไข่คือบ่อเกิดแห่งการได้เกิดและเติบโต ไหว้ขนมไข่เพื่อให้ได้มีการเกิดและการเจริญเติบโต
 
          ขนมจับกิ้ม หรือ แต้เหลียง ก็เรียกคือ ขนมแห้ง 5 อย่าง จะเรียกว่า โหงวเส็กทึ้ง หรือ ขนม 5 สี ก็ได้ ประกอบด้วย ถั่วตัด งาตัด ถั่วเคลือบ ฟักเชื่อม และข้าวพอง

                    - ฟัก เพื่อฟักเงินฟักทอง ฟักเชื่อม คือการฟักความหวานของชีวิต

                    - ข้าว ถั่ว งา คือ ธัญพืช ธัญญะ แหลว่า งอกงาม ไหว้เพื่อให้งอกงามและชีวิตหวานอย่างขนม

           ขนมอี๊ อี๊ หรือ อี๋ แปลว่ากลม ๆ ขนมอี๊ทำจากแป้งข้าวเหนียว นวดจนได้ที่เจือสีชมพู ปั้นเป็นก้อนกลม ๆ ต้มกับน้ตาล เพื่อให้ชีวิตเคี้ยวง่ายราบรื่น เหมือนขนมอี๊ที่เคี้ยวง่ายและหวานใส ซึ่งขนมอี๊นี้อาจใช้เป็นสาคูหรือลูกเดือยก็ได้ คนจีนแต้จิ๋วเรียกว่าอี๊เหมือนกัน
ชุดผลไม้           ส้ม คนจีนแต้จิ๋วเรียกแบบชาวบ้านว่า กา แต่ส้มมีอีกคำเรียกว่า ไต้กิก

                    - ไต้ แปลว่า ใหญ่ กิก แปลว่า มงคล

                    - ไต้กิก จึงแปลว่า มหาสิริมงคล แต่ถ้าแปลง่าย ๆ แบบชาวบ้านก็คือ โชคดี

           กล้วย จีนแต้จิ๋วออกเสียงว่า เก็ง-เจีย  จะเล่นเสียงว่า เก็ง-เจีย-เก็ง-ไล้  แปลว่า  ถึงโชคเข้ามา กับอีกความหมายว่า กล้วย มีผลมากมายแถมเป็นเครือ จึงมีมงคลให้ลูกหลานมาก ๆ  มีวงศ์วานว่านเครือสืบสกุล

           องุ่น จีนแต้จิ๋วเรียกว่า พู่-ท้อ

                    - พู่ ก็คือ งอก หรืองอกงาม

                    - ท้อ ก็คือ พ้องเสียงกับลูกท้อ ที่เป็นผลไม้มงคล อายุยืน

           สับปะรด คนจีนแต้จิ๋วเรียก อั้งไล้ แปลว่า เรียกสีแดงมา สีแดงเป็นสีของโชค ก็ประมาณว่าเรียกโชคเข้ามา คนจีนทางใต้นิยมไหว้สับปะรดมาก